วันที่ 18 มกราคม 2568 เวลา 09:00 น. คุณหญิงลักขณา แสงสนิท เป็นประธานเปิด ‘สวนพฤกษศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมโดยพืช‘ สวนนี้ทางสมาคมศิษย์เก่าฯได้ปรับปรุงภูมิทัศน์จากสวนสงบ โดยใช้งบประมาณจากการจัดงาน ‘ลูกผึ้งคืนรัง กราบไหว้ครู ดูแลน้อง’ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2567 เพื่อให้เป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ของนักเรียน ปลูกฝังทัศนคติ รักการปลูกต้นไม้และเห็นคุณประโยชน์ของต้นไม้ในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นวาระสำคัญของประเทศและของโลกในปัจจุบัน
พันธุ์ไม้ที่นำมาปลูก มีมากถึง 29 ชนิดได้แก่ สนหอม, รวงผึ้ง, สายน้ำผึ้ง, ราชาวดี, พุดน้ำบุษย์, แก้ว, ล่ำซำ, หญ้าแฝก, เศรษฐีเรือนใน, เศรษฐีเรือนนอก, เศรษฐีพันล้าน, ม่านสายไหม, เล็บครุฑ, กวักมรกต, ถั่วบราซิล, ฟ้าประดิษฐ์, ก้ามปูหลุด, พลูด่างยักษ์, ฟิโลเด็นดรอน แสงทอง, มณีรุ่งเรือง, ทรัพย์มงคล, ซันดรอป, เสน่ห์จันทร์แดง, กวนอิม, โกสนไหมทอง, โกสนจิตรดา, บุษบาฮาวาย, และจันผา พืชเหล่านี้เป็นพืชฟอกอากาศ นอกจากจะช่วยเพิ่มคุณภาพอากาศ ช่วยลดความแห้งแล้งแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างสมาธิ ผ่อนคลายความเครียด และเพิ่มความสวยงามให้พื้นที่อีกด้วย
สวนพฤกษศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมโดยพืช เป็นหนึ่งในกิจกรรมซึ่งสมาคมศิษย์เก่าสายน้ำผึ้งจัดทำขึ้น โดยปรับปรุงจากสวนสงบที่มีอยู่เดิม ด้วยตระหนักถึงคุณประโยชน์ของพืชที่มีต่อสภาพแวดล้อม และเพื่อสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์
โรงเรียนสายน้ำผึ้งฯ ได้สร้างสวนสงบเป็นอนุสรณ์ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา วันที่ 5 ธันวาคม 2530
สมาคมศิษย์เก่าสายน้ำผึ้งดำเนินการปรับปรุงสวนนี้ ต่อยอดจากโครงการปลูกต้นสายน้ำผึ้ง โดยนำรายได้การจัดงานลูกผึ้งคืนรัง กราบไหว้ครู ดูแลน้อง เมื่อปี 2567 และเงินบริจาคจากศิษย์เก่า มาใช้ดำเนินการ สวนแห่งนี้ตั้งอยู่ท่ามกลางหมู่อาคารเรียน จึงเป็นสถานที่ผ่อนคลายความเครียดและบำบัดจิตใจของทั้งครูอาจารย์ นักเรียนและเจ้าหน้าที่ของโรงเรียน การพัฒนามุ่งเน้นเอกลักษณ์ความสัมพันธ์ของดิน น้ำ และพืช รวมถึงประโยชน์การเสริมกิจกรรมประยุกต์ทางชีววิทยาสิ่งแวดล้อมของนักเรียน โดยนำหญ้าแฝก พืชอนุรักษ์ดินและน้ำจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ มาปลูกผสมผสานกับพืชบำรุงดินและพืชฟอกอากาศ ซึ่งได้สืบค้นข้อมูลพืชฟอกอากาศของ NASA ได้ความว่า พืชสังเคราะห์แสงมีคุณสมบัติที่นอกเหนือจากการผลิตออกซิเจน คือศักยภาพการดูดซับมลพิษจากชั้นบรรยากาศได้ ดังนั้น พืชฟอกอากาศจึงเป็นพืชที่มีคุณสมบัติดักจับฝุ่น PM2.5 และมลพิษในอากาศ พร้อมๆกับผลิตออกซิเจนให้อากาศบริสุทธิ์ ซึ่งฝุ่น PM2.5 นี้ มีผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งเป็นสารก่อมะเร็งในระบบทางเดินหายใจ และทำให้เกิดโรคภูมิแพ้
ฝุ่นละออง PM2.5 จะถูกดักจับโดยส่วนโครงสร้างทางกายภาพของใบและลำต้นพืช ที่มีลักษณะผิวขุขระ เป็นร่อง หรือมีขน สารมลพิษทางอากาศจะถูกบำบัดโดยผ่านกระบวนการ 3 ขั้นตอน คือ การคายน้ำจากปากใบ การดูดลำเลียงน้ำจากรากพืช และการดูดอาหารทางปากใบ สารพิษจะเคลื่อนสู่รากพืช จากนั้นจุลินทรีย์ดินซึ่งอาศัยบริเวณรากพืชจะทำหน้าที่ย่อยสลาย แปรสภาพเป็นกลูโคสสำหรับเป็นอาหารของพืชต่อไป
ตัวอย่างของพืชฟอกอากาศ
-หญ้าแฝกพืชอนุรักษ์ดินและน้ำ สามารถดูดซับสารเคมีเกษตรหรือโลหะหนักได้
-ต้นถั่วบราซิล พืชบำรุงดิน ทำหน้าที่คลุมดินได้ดี และให้ไนโตรเจนธรรมชาติ โดยแบคทีเรียไรโซเบียมที่ปมรากถั่ว
-ต้นสนหอม มีองค์ประกอบสารอินทรีย์ระเหยไล่ยุง
-ต้นสายน้ำผึ้ง ใบและลำต้นมีขนดักจับฝุ่น PM2.5 ส่วนของดอกเป็นสุคนธบำบัด
-ต้นเศรษฐีเรือนในและเรือนนอก บำบัดสารเคมี และคลุมดิน
ส่วนพืชบำบัดมลพิษทางอากาศในสวนพฤกษศาสตร์ฯ
– กลุ่มดูดซับฝุ่นละออง PM2.5 ได้แก่ สายน้ำผึ้ง รวงผึ้ง ราชาวดี ล่ำซำ โกสน บุษบาฮาวาย ลำดวน
– กลุ่มบำบัดฟอร์มัลดีไฮด์ ได้แก่ เศรษฐีเรือนในและเรือนนอก พลูด่างยักษ์ ฟิโลเด็นดรอน
– กลุ่มบำบัดเบนซิน ได้แก่ อโกลนีมา พลูด่างยักษ์
– กลุ่มบำบัดแอมโมเนีย ได้แก่ ว่านเสน่ห์จันทร์แดง
การปลูกพืชฟอกอากาศและบำบัดมลพิษในอากาศ สามารถดำเนินการได้ทันทีในทุกพื้นที่และทุกภาคส่วนของสังคม ช่วยเสริมสร้างสภาวะแวดล้อมธรรมชาติ โดยจะเพิ่มออกซิเจนให้อากาศบริสุทธิ์ เพิ่มประสิทธิภาพการศึกษาในวัยเรียนและวัยทำงานได้ถึง 70% เพิ่มความชุ่มชื้นในอากาศ และเป็นจุดพักสายตาให้ผ่อนคลาย ซึ่งสีเขียวในหลักจิตวิทยาเป็นสีแห่งความผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ
สวนพฤกษศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมโดยพืชแห่งนี้ สมาคมศิษย์เก่าสายน้ำผึ้งขอน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ พระผู้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอนุรักษ์พัฒนาทรัพยากรธรรมชาติให้อยู่คู่แผ่นดินไทยอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นการกราบบูชาครู ผู้เป็นต้นแบบแห่งปัญญาและคุณธรรม